เกี่ยวกับเรา
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริหารงานภายใต้พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พุทธศักราช 2517 ที่ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2517 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ มาตรา 5 ข้อความว่า ให้จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น เรียกว่า “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล”

มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 1. ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล 2. จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ 3. กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนิน กิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดการโรงพิมพ์ อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล และสิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ปัจจุบันสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สำนักการพิมพ์)ตั้งอยู่ที่ ซอยแยกเอกมัย ถ.สุขุมวิท 63

นอกจากการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังได้มีการจัดพิมพ์สลากบำรุงการกุศล ใบตรวจผลการออกรางวัล รวมถึงงานพิมพ์อื่นที่รับจ้างจากภายนอก

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งพิมพ์กันปลอมแปลงของหน่วยราชการที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ อาทิ ตั๋วรถเมล์ ตั๋วรถโดยสาร บขส. บัตรผ่านทางของการทางพิเศษฯ สติกเกอร์ของกรมสรรพสามิต แม้จะไม่สร้างกำไรให้เป็นจำนวนมากนัก เนื่องจากเป็นลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ และรับพิมพ์งานในราคาต่ำกว่าโรงพิมพ์ของเอกชน แต่ก็นับว่าเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในความมีศักยภาพและได้รับความไว้วางใจ



รัฐวิสาหกิจในฐานะหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สําคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างบทบาทการดําเนินงานให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับนโยบาย และสภาพแวดล้อม โดยกําหนดเป้าหมาย คือ “รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือสําคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดําเนินบทบาทในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศในด้านต่างๆ ได้ตามเป้าหมาย และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลจากการเชื่อมโยงนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) แนวคิดประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคม (Digital Economy : DE) สามารถกําหนดกรอบยุทธศาสตร์รัฐวิสหากิจ 5 ด้าน ดังนี้

1. กําหนดบทบาทรัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ
2. บริหารแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ
3. เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้สามารถดําเนินการตามบทบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาภารกิจและการบริหารจัดการ
5. ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้มีความโปร่งและมีคุณธรรม